เศษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                                                   ปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง
                “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทาง การดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำ แนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลง
                มีหลักพิจารณา ดังนี้
                กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤติ เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
                คุณลักษณะ เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
                คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน ดังนี้
1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกิดไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
3. การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
                เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรุ้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
1. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ
2. เงื่อนไขความธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับ จากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี
การพัฒนาการเกษตรแบบ " ผึ่งพาตนเอง"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาเพื่อการพัฒนาการเกษตรแบบพี่งตนเอง (Self Reliance) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยทรงเน้นให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือตนเองเป็นหลักสำคัญ และมีพระราชประสงค์เป็นประการแรก คือ การทำให้เกษตรกร สามารถพึ่งตนเองได้ในด้านอาหาร ก่อน เป็นอันดับแรก เช่น ข้าว พืชผัก ผลไม้ ฯลฯ แนวพระราชดำริที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การที่ทรงพยายามเน้นมิให้เกษตรกรพึ่งพาอยู่กับพืชเกษตรแต่เพียงชนิดเดียว เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายสูง เนื่องจากความแปรปรวนของราคา และความไม่แน่นอน ของธรรมชาติ ทางออกก็คือ นอกจากจะปลูกพืชหลายชนิดแล้ว เกษตรกรควรจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกเหนือไปจากภาคเกษตร เช่น การส่งเสริมอุตสาหกรรมในครัวเรือนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ซึ่งดำเนินงานสนับสนุนงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปัจจุบัน (สำนักงาน กปร., ๒๕๔๒)
เศรษฐกิจพอเพียง ฉบับประชาชน
 การสำรวจครั้งนี้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ 3 มกราคม-15 มกราคม 2550 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 3,073 คน จาก 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เชียงใหม่ กำแพงเพชร แพร่ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด นครพนม นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ ชลบุรี ระยอง และปราจีนบุรี กระทำโดยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้อง กับประชากรเป้าหมายจากสำมะโนประชากรของประเทศ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
I. สถานภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนโดยทั่วไป
       ก่อนอื่น เราคงต้องทำความเข้าใจลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจเสียก่อน เพื่อให้ทราบถึงสถานสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือนว่ามีรายได้ รายจ่าย และเงินออมของครัวเรือนต่อเดือนเป็นอย่างไร จากการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างประมาณ 10.3% มีรายได้ครัวเรือนต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท 19.0% มีรายได้อยู่ระหว่าง 5,001-10,000 บาท 26.8% มีรายได้ 10,001-20,000 บาท 24.1% มีรายได้ 20,001-40,000 บาท 11.7% มีรายได้ 40,001-60,000 บาท และ 8.2% มีรายได้มากกว่า 60,000 บาท
       ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีรายจ่ายเฉลี่ย คิดเป็นประมาณ 67.0% ของรายได้ ในจำนวนนี้ 72.8% มีบ้านเป็นของตัวเอง ขณะที่ 27.2% ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง โดยอาศัยอยู่บ้านเช่า หรือบ้านญาติ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 62.9% มีหนี้สิน ขณะที่ 37.1% ไม่มีหนี้สิน ผู้ที่มีหนี้สินมีหนี้สินโดยเฉลี่ยครัวเรือนละ 404,470 บาท คิดเป็นสัดส่วน 14.1 เท่าของรายได้
     สำหรับสาเหตุของการเป็นหนี้ กลุ่มตัวอย่าง 35.0% เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค ขณะที่ 26.4% เป็นหนี้ซื้อยานพาหนะ 24.4% เป็นหนี้ซื้อบ้าน และ 14.2% เป็นหนี้อื่นๆ ถึงแม้ว่าผู้เป็นหนี้ส่วนใหญ่รวมกันถึงประมาณ 50.0% จะเป็นหนี้เพื่อซื้อสินทรัพย์ แต่มีผู้ตอบถึง 35.0% ที่ต้องเป็นหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง เพราะแสดงถึงการมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายทั่วไป เมื่อพิจารณาลึกลงไปเฉพาะกลุ่มนี้ จะพบว่าเป็นผู้มีรายได้ครัวเรือนค่อนข้างต่ำ หัวหน้าครัวเรือนมีการศึกษาต่ำ มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 40 ปี  กลุ่มตัวอย่างที่เป็นหนี้ ชำระหนี้ต่องวดเฉลี่ยเป็นเงิน 7,893 บาท โดยส่วนใหญ่ 82.5% ของผู้ชำระหนี้ ชำระหนี้น้อยกว่ารายได้ในแต่ละเดือน แต่มีผู้ตอบ 13.9% ที่ชำระหนี้มากกว่ารายได้ และ 3.5% ชำระหนี้เท่ากับรายได้ที่หามาได้ในแต่ละเดือน นั่นหมายความว่าในบรรดาผู้เป็นหนี้สินมีถึง 18.0% ที่มีรายได้ในแต่ละเดือนไม่พอใช้หนี้ และไม่มีรายได้อื่นเพื่อมาใช้จ่าย
II. ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง
      การจะนำเอาแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับสังคมไทยให้เกิดประสิทธิผล และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบุคคลและประเทศชาตินั้น สิ่งสำคัญที่ถือได้ว่า เป็นหัวใจของการดำเนินการ คือผู้ปฏิบัติจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในปรัชญานี้อย่างถ่องแท้ และสอดคล้องกันทั้งประเทศ ทั้งผู้วางนโยบาย และผู้ปฏิบัติหรือภาคประชาชน เนื่องจากลักษณะสำคัญในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีเรื่องของความรู้ความเข้าใจ และการมีเหตุมีผลเข้ามาเป็นเงื่อนไข
      ในการสำรวจครั้งนี้ จึงได้มีการให้ประชาชนประเมินตนเอง เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของตนเอง และสังคมรอบข้างด้วย
      ผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ประเมินตนเองว่ามีระดับ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงน้อยมากจนถึงไม่เข้าใจเลยนั้น มีจำนวน 10.0% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่อาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของประเทศ มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และมีอายุระหว่าง 50-59 และ 60 ปีขึ้นไป ขณะที่มีผู้ตอบว่าตนเองมีความเข้าใจมาก 33.5% และเข้าใจปานกลาง 57.2% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด
      เพื่อให้ได้ข้อมูลครอบคลุมครบถ้วน ประเด็นต่อมาจึงให้กลุ่มตัวอย่างประเมินคนใน หมู่บ้าน/ชุมชนของตนเองถึงระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับตนเอง ผู้ตอบที่ประเมินคนในหมู่บ้าน/ชุมชน ของตนว่ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงในระดับมากนั้น มีจำนวนลดลงมากกว่าครึ่ง และจำนวนที่มีความรู้น้อยหรือไม่เข้าใจเลย กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว (เข้าใจมาก 14.2% ปานกลาง 58.2% น้อย 25.5% และไม่เข้าใจ 2.1%)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น